
บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ ชาวฝรั่งเศส
เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ
ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ
ด้วยความใฝ่ฝันที่จะต่อสู้กับการปล่อยปละละเลยในเรื่องการศึกษาและความโง่เขลาของเด็ก ๆ ในละแวกวัด ในปี พ.ศ. 2420 (ค.ศ.1877) ท่านจึงตั้งโรงเรียนวัดชื่อโรงเรียนไทย-ฝรั่ง เพื่อสอนภาษาฝรั่งเศส และภาษาไทย ในวันแรกมีนักเรียน 12 คน สมัยนั้นเยาวชนทั้งหลายมิได้เอาใจใส่ต่อการเรียน ส่วนใหญ่มุ่งแต่จะเที่ยวเล่นไปตามลำคลองเท่านั้น แต่บาทหลวงกอลมเบต์เห็นการณ์ไกลไม่ท้อถอย
สองปีต่อมา ท่านจึงเปิดสอนภาษาอังกฤษเพิ่มอีกหนึ่งภาษา จนกระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 (ค.ศ.1885) โรงเรียนได้เปิดอย่างเป็นทางการใช้ชื่อว่า โรงเรียนอาซัมซาน กอเล็ศ โดยใช้เรือนไม้หลังใหญ่ซึ่งเคยเป็นที่พักของเณรคาทอลิก ให้เป็นอาคารเรียนหลังแรก และขอร้องให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาเรียน วันแรกมีนักเรียนนับจำนวนได้ 33 คน จนถึงสิ้นปีมี นักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 80 คน ในปีต่อมา มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 130 คน
เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นและโรงเรียนเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น ท่านจึงขยายโรงเรียนโดยสร้างอาคารเรียนอีกหนึ่งหลังโดยทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี อีกทั้งบอกบุญเรี่ยไรไปยังบรรดาเจ้านายพ่อค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ ด้านทุนทรัพย์เป็นอย่างดี
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2430 (ค.ศ.1887) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามกุฎราชกุมาร เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ ตึกเรียนหลังแรก ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ตึกเก่า
" ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมงเสส
ทรงจับฆ้อนเคาะแผ่นศิลานั้น แล้วตรัสว่า
ให้ที่นี่ถาวรมั่นคงสืบไป
พระดำรัส สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
คราวเสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ อาคารเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔ แผ่นที่ ๑๘ หมายเลข ๑๓๘ "







โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมถือกำเนิดมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย โรงเรียนอัสสัมชัญก่อตั้งโดยบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ เมื่อปีพุทธศักราช 2428 มุ่งเน้นจัดการศึกษาควบคู่กับคุณธรรมให้แก่เยาวชน โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นที่ต้องการของผู้ปกครองและ ศิษย์เก่าในการส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้อาคารเรียนมีไม่เพียงพอ ทางโรงเรียนเห็นความจำเป็นในการจัดให้มีพื้นที่สำหรับการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยเจษฎาธิการหลุยส์ ชาแนล (ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม) ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญในขณะนั้นได้นำเรื่องปรึกษากับคณะกรรมการบริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นมี ภราดาฟิลิป อำนวย ปิ่นรัตน์ เป็นอธิการเจ้าคณะฯ ได้ประชุมพิจารณาถึงความแออัดของโรงเรียนอัสสัมชัญ ดังนั้นในวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2508 จึงมีมติให้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้น ณ ที่อยู่ปัจจุบัน เลขที่ 164 ซอยสาทร 11 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับอนุมัติเงินสำหรับดำเนินการครั้งแรกสองล้านบาท เพื่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง ห้องสุขา 2 แห่ง และศาลาอเนกประสงค์ 1 หลัง บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ โดยแบ่งที่ดินมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ เมื่อสร้างเสร็จทำการย้ายเฉพาะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 มาเท่านั้น ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-7 ยังคงอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก เช่นเดิม ในระยะแรกโรงเรียน ที่ก่อตั้งขึ้นนี้ใช้ชื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2509 เริ่มให้นักเรียนเข้าเรียนวันแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2509 มีนักเรียนทั้งหมด 997 คน ครู 27 คน มีอาคารเรียนหลังแรกชื่อ ตึกมาร์ติน เดอ ตูรส์ ได้รับการเสกประกอบพิธีทางศาสนาและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2510 โดยพระอัครสังฆราช ยวง นิตโย ประมุขแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธีเปิด กระทั่งมาในปีพุทธศักราช 2520 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ด้านการบริหารงานของโรงเรียน ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม ดำรงตำแหน่งอธิการดูแลทั้งแผนกประถมและแผนกมัธยม ดังนั้นท่านจึงมอบหมายให้ ภราดาสุรชัย สุขชัย เป็นตัวแทนทำหน้าที่ควบคุมดูแลที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม โดยมีมาสเตอร์ประวิทย์ สุจฉายา เป็นครูใหญ่คนแรก การพัฒนาระบบบริหารจัดการของโรงเรียนยังคงดำเนินต่อไปในทุกๆ ด้าน กระทั่งสิ้นปีการศึกษา 2514 มาสเตอร์ประวิทย์ สุจฉายา ลาออก ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม จึงแต่งตั้ง มาสเตอร์ประทีป สุวรรณเสวตร ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่คนต่อมา

ครั้นปีการศึกษา 2516-2521 ภราดาวิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย มาดำรงตำแหน่งอธิการ ท่านได้ย้ายนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-7 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก มาอยู่รวมกันที่เซนต์หลุยส์ เมื่อปีการศึกษา 2516 และได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 2 อาคาร คือ ตึกเซนต์หลุยส์ มารี และตึกไมเกิ้ล เพื่อรองรับนักเรียนที่เพิ่มขึ้นและเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ ภราดาชูชาติ ลิปิสุวรรณโชติ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองอธิการ ทำหน้าที่ผู้ดูแลบริหารงานที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และมอบหมายให้ ภราดาจรัล อุดมสุข เป็นผู้ช่วย
ต่อมาสมัย ภราดาชุมพล ดีสุดจิต ดำรงตำแหน่งอธิการระหว่างปีการศึกษา 2522-2528 เป็นช่วงที่มี การปรับปรุงการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ท่านมอบหมายให้ภราดา ราชัย เกษมวงศ์ราช ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่ ดูแลบริหารงานโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ครั้นปีการศึกษา 2528 เป็นช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ มีอายุ 100 ปี จึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชโรงเรียนขึ้น เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2528 โดยกราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ มาเป็นองค์ประธานทรงเปิดอาคารอัสสัมชัญ 100 ปี ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก ซึ่งโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย
ครั้นปีการศึกษา 2529–2534 ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม มาดำรงตำแหน่งอธิการเป็นสมัยที่ 2 การบริหารงานของโรงเรียนอัสสัมชัญทั้งแผนกมัธยมและแผนกประถมยังเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติที่กระทำมา โดยมอบหมายให้ ภราดาชูชาติ ลิปิสุวรรณโชติ ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่ การบริหารงานของโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม มีความเจริญก้าวหน้าในทุกๆด้านอย่างรวดเร็ว จนทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่นระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2533 รวมทั้งมีการปรับปรุงด้านการเรียนและด้านกิจกรรมต่างๆโดยมีการจัดตั้งวงโยธวาทิตขึ้นที่แผนกประถมในสมัยของภราดาวิริยะ เมื่อปีพุทธศักราช 2531 ส่วนด้านกายภาพขยายพื้นที่ของโรงเรียนเป็น 8 ไร่ และทำการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ชื่อว่า ตึกพระนางพรหมจารีมารีอา เพื่อรองรับการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และตึกหิรัญสมโภช ซึ่งเป็นอาคารสำหรับจัดกิจกรรมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งการก่อสร้างตึกหิรัญสมโภชนี้เพื่อเป็นการเตรียมการสมโภชโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมที่ได้ย้ายจากโรงเรียนอัสสัมชัญมาครบ 25 ปี (อัสสัมชัญ แผนกประถมรุ่งโรจน์ หิรัญสมโภช 25 ปี)



ระหว่างปีการศึกษา 2535 – 2540 ภราดาเลอชัย ลวสุต ดำรงตำแหน่งอธิการ ท่านได้พัฒนาการเรียนการสอนให้เป็นเลิศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ริเริ่มจัดให้มีการสอนภาษาจีนขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 โดยครูผู้สอนเป็นครูจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงกล่าวได้ว่าโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมเป็นโรงเรียนประถมโรงเรียนแรกในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยที่เริ่มมีการสอนภาษาจีนอย่างเป็นทางการ และในขณะนั้นผู้ที่ดูแลบริหารงานโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม คือ ภราดาเดชาชัย ศรีพิจารณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่ ในช่วงสมัยของท่านอธิการเลอชัยได้จัดงาน “เก้ารอบนักษัตรอัสสัมชัญ” ขึ้นในปีพุทธศักราช 2536 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโรงเรียนทั้งแผนกมัธยมและแผนกประถม โดยทางโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมได้มีพิธีเปิดตึกหิรัญสมโภช ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2536 อีกทั้งในช่วงนี้เป็นยุคการปฏิรูปการศึกษา การเรียนการสอนจึงควรให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความต้องการและมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติจริง ภราดาเลอชัย ลวสุต จึงขออนุญาตสร้างอาคารอเนกประสงค์ขึ้นอีก 1 หลัง เป็นอาคารเรียนสูง 6 ชั้น เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูและนักเรียน โดยเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2541
ระหว่างปีการศึกษา 2541-2546 ภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย มาดำรงตำแหน่งอธิการ ได้สานต่อการก่อสร้างอาคาร โดยมอบหมายให้ ภราดาอาจิณ เต่งตระกูล ครูใหญ่ และ ภราดาศักดา สกนธวัฒน์ ดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2543 ชื่อว่า ตึกอัสสัมชัญ 2000 อาคารหลังนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2543 สำหรับด้านการจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นกระบวนการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ ดังนั้นในปีพุทธศักราช 2542 จึงได้จัดให้มีห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาการ (Discovery Learning Centre) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ขึ้น ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ใช้จัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และความแตกต่างของผู้เรียน ผลจากการดำเนินการจัดการศึกษาของโรงเรียน ทำให้ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลพระราชทานระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่ ประจำปีการศึกษา 2543 ต่อมาในปีการศึกษา 2544 ภราดาอรุณ เมธเศรษฐ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ปีการศึกษา 2545 ภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย เล็งเห็นว่านักเรียนอัสสัมชัญควรมีทางเลือกในการเรียนรู้มากขึ้น อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเพื่อนำไปใช้สื่อสารในยุคโลกไร้พรมแดนได้อย่างมั่นใจ ท่านจึงได้ริเริ่มเปิดโครงการ English Program ขึ้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม โดยเริ่มเปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 คู่ขนานกัน
ครั้นปีการศึกษา 2547-2555 ภราดา ดร.อานันท์ ปรีชาวุฒิ มาดำรงตำแหน่งอธิการ การบริหารงานในช่วงระยะเวลานี้มุ่งเน้นให้โรงเรียนเป็นสถาบันการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติออกเป็น 5 ด้าน คือ ด้านการบริหารโรงเรียน (School Management) ด้านคุณภาพการศึกษา (Quality Education) ด้านการบริหารจัดการบุคลากร (Personnel Management) ด้านการให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียน (Student Oriented) และด้านความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง (Parental Emphasis) ปีการศึกษา 2556 ภราดา ดร.ศักดา สกนธวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ในปีการศึกษานี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พุทธศักราช 2550 ทำให้โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม จำเป็นต้องแยกการบริหารจัดการจากโรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก โดยได้รับการอนุมัติตราสารจัดตั้ง นิติบุคคลจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พุทธศักราช 2556 ในด้านการบริหารจัดการศึกษา ผู้อำนวยการมีนโยบายการพัฒนาที่มุ่งเน้น “คุณภาพและคุณธรรม” เพื่อพัฒนานักเรียนทั้งครบ คือ พัฒนาร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคมและจิตใจ นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาการจัดการเรียนการสอนบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบออนไลน์ โดยจัดทำเว็บไซต์ ACP E – Learning ในด้านการบริหารจัดการมีนโยบายส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการสารสนเทศผ่านระบบ SWIS (School Web-based Information System) และระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Office)
เพื่อให้การบริหารงานของโรงเรียนเกิดประสิทธิภาพ เป็นไปตามระบบประกันคุณภาพการศึกษา โดยใช้ระบบวงจรคุณภาพ บริหารภายใต้หลักธรรมาภิบาล และก้าวสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล ในด้านการบริหารอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม มีนโยบายส่งเสริมให้โรงเรียนมุ่งไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน อันประกอบด้วย การปลูกฝังการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมและเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ ค่านิยม ความตระหนักรู้ จิตสำนึกและพฤติกรรมในการเสริมสร้างการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
